วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

"เสือ" แต่ละสายพันธุ์

เสือโคร่ง

        รูปร่างลักษณะ        เสือโคร่งเป็นเสือขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเสือ ลำตัวมีสีเทาแกมเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง แต่ละตัวจะมีลายแถบปรากฎบนหลังและด้านข้างของลำตัวต่างกัน ขนใต้ท้อง คาง และคอ เป็นสีขาว ขนเหนือตาสีขาวและมีแถบสีดำ หางมีแถบดำเป็นบั้งๆ ตั้งแต่โคนหางถึงปลายหาง ไม่เคยมีรายงานเสือโคร่งดำ แต่มีรายงานเสือโคร่งเผือก เสือโคร่งตัวผู้ขนาดใหญ่อาจมีขนาดน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม
ถิ่นที่อยู่มีการกระจายจากแถบไซบีเรียถึงทะเลสาบแคสเปียน อินเดีย เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะสุมาตรา หมู่เกาะชวา และแถบบาหลี แต่ไม่เคยมีรายงานการพบเสือโคร่งบนเกาะบอร์เนียว
          พฤติกรรม          เสือโคร่งชอบอาศัยใกล้แหล่งน้ำหรือที่มีร่มเงาให้หลบแสงแดด เพราะมันไม่ชอบอากาศร้อน เสือโคร่งจึงมักอาศัยในป่าทึบอากาศเย็นและใช้พักผ่อนได้ในเวลากลางวัน เสือโคร่งชอบอาบน้ำและว่ายน้ำ ในวันที่มีอากาศร้อน เสือโคร่งใช้เวลาหลายชั่วโมงในแอ่งน้ำ เสือโคร่งไม่ชอบปีนต้นไม้  แต่ก็ปีนได้ ถ้าจำเป็น
         เสือโคร่งออกล่าเหยื่อตอนเย็นและล่าทุกอย่างที่กินได้ ตั้งแต่ปลา เต่า เม่น หรือแม้แต่เสือโคร่งด้วยกันเอง ในประเทศไทย เสือโคร่งชอบล่าหมูป่าและกวางเป็นอาหาร เสือโคร่งจะไล่เหยื่อประมาณ 10-20 เมตรแล้วจึงเข้าตะครุบเหยื่อจากทางด้านหลังหรือด้านข้าง เสือโคร่งเริ่มกินเหยื่อตรงสะโพกก่อน ตามปกติมันต้องการอาหารวันละประมาณ 6-7 กิโลกรัม
        เสือโคร่งที่อายุมาก เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ ถ้าเกิดได้ลองกินคนแล้วอาจติดใจ เพราะสามารถล่าและฆ่าได้ง่าย แต่ตามธรรมชาติ เสือโคร่งไม่ชอบเข้าใกล้คน
         เสือโคร่งชอบอยู่สันโดษ ไม่ค่อยพบว่าอยู่เป็นคู่ ถ้าพบเป็นกลุ่มก็จะเป็นแม่เสือโคร่งและลูกๆ ในฤดูผสมพันธุ์ เสือโคร่งตัวเมียจะส่งเสียงร้องดังและบ่อย เสือโคร่งใช้เวลาตั้งครรภ์ประมาณ 100-105 วัน ออกลูกครั้งละ 1- 5 ตัว แม่เสือโคร่งเลี้ยงลูกประมาณ 2 ปี โดยลูกตัวเมียจะอยู่นานกว่าลูกตัวผู้





เสือชีตาห์

          รูปร่างลักษณะ
เสือชีตาห์เป็นเสือที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดชนิดหนึ่งไม่น้อยหน้าสิงโตและเสือโคร่ง ด้วยรูปร่างที่สง่างามน่าแปลกกว่าเสือชนิดอื่น และประกอบกับการเป็นเจ้าของสถิติสัตว์บกที่วิ่งเร็วที่สุดในโลก จึงแทบไม่มีใครไม่รู้จักเสือชีตาห์
เสือชีตาห์เป็นเสือค่อนข้างเล็ก ในเซเรนเกตตี น้ำหนักเฉลี่ยของเสือชีตาห์ตัวผู้คือ 43 กิโลกรัม และตัวเมีย 38 กิโลกรัม รูปร่างต่างจากเสือชนิดอื่นมาก รูปร่างผอมเพรียว ดูเผิน ๆ เหมือนหมาพันธุ์เกรย์ฮาวนด์ สีพื้นลำตัวเป็นสีเหลืองทองและมีจุดสีดำกระจายทั่วทั้งตัว ใต้ท้อง ด้านล่างของขา คอ คาง และริมฝีปากบนสีขาว ที่ใกล้ปลายหางจุดจะกลายเป็นปล้องดำประมาณ 6 วง ปลายหางสีขาว ใบหน้ามี "เส้นหยาดน้ำตา" สีดำพาดจากหัวตาลงมายังมุมปากเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร หนวดค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับเสือโคร่ง ละเอียด อ่อน จึงไม่มีหน้าที่ช่วยในการล่าแต่อย่างใด ใบหูดำ โคนหูและขอบใบหูสีน้ำตาลอมเหลือง เล็บนิ้วโป้งอยู่สูงเด่นจากนิ้วอื่น ใช้ในการเกี่ยวขาเหยื่อที่กำลังวิ่งหนี บริเวณท้ายทอยและหลังมีขนยาวคล้ายแผงคอของสิงโต บางตัวจะยาวมาก
          ถิ่นที่อยู่
          เสือชีตาห์อาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าในพื้นที่ประเภทกึ่งซาฮารา ป่าไม้พุ่ม ไม้แคระ ป่าละเมาะ พบบ้างในป่าไมออมโบซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในแอฟริกาตอนกลาง แต่ไม่พบในแนวป่าซาวันนาซูดาโน-กีเนียนซึ่งอยู่ในตะวันตก ลักษณะที่อยู่อาศัยที่เสือชีตาห์ชอบมากที่สุดอาจจะเป็นทุ่งหญ้าสลับป่าเนื่องจากการล่าในพื้นที่แบบนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าการล่าในทุ่งหญ้าอย่างเดียว พื้นที่ที่เสือชีตาห์ไม่ชอบคือท้องทะเลทรายที่กว้างใหญ่ และป่าทึบ แม้ไม่ชอบอยู่ตามภูเขาสูง แต่ก็เคยพบในที่ได้สูงถึง 1,500 เมตรในเทือกเขาเอธิโอเปีย ตามเทือกเขาแอลจีเรีย ชาด มาลี ไนเจอร์ เคยพบที่ระดับสูงถึง 2,000 เมตร
          พฤติกรรม
ในแอฟริกา เสือชีตาห์มักหากินตอนกลางวัน สาเหตุเนื่องจากการล่าของเสือชีตาห์จำเป็นต้องมองเห็นสภาพพื้นที่ที่ล่าได้ชัดเจน และเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่าชนิดอื่นที่หากินตอนกลางคืนมากกว่า เคยพบเสือชีตาห์กินซากบ้าง และบางครั้งก็เป็นการกลับมาเอาเหยื่อที่ตนเองเป็นผู้ล่าที่ถูกแย่งไปทิ้งไปแล้ว แต่กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นน้อยครั้งมาก ในพื้นที่ปศุสัตว์ในนามีเบียซึ่งสิงโตและไฮยีนาหายไปแล้วพบว่า หากสัตว์ที่ล่ามามีขนาดใหญ่ กินคราวเดียวไม่หมด เสือชีตาห์มักอยู่ไม่ไกลจากเหยื่อนั้นแทนที่จะทิ้งไป
การล่าของเสือชีตาห์ จะย่องเข้าไปใกล้เยื่อจนอยู่ในระยะประมาณ 30 เมตร แล้วพุ่งออกไปไล่กวดเหยื่อ การไล่กวดจะกินเวลาประมาณ 20-60 วินาที เมื่อไล่จนทันก็จะใช้ขาหน้าปัดขาหลังของเหยื่อเพื่อให้คะมำล้มลง ความจริงการปัดนี้เป็นการเกี่ยวด้วยเล็บนิ้วโป้งซึ่งอยู่สูงจากอุ้งตีน เมื่อเหยื่อล้มลงแล้วจึงลงมือฆ่าโดยกัดหลอดลม ทำให้เหยื่อขาดใจตาย เสือชีตาห์มีโพรงจมูกใหญ่กว่าเสือชนิดอื่นเพื่อให้หายใจได้ง่ายขณะต้องกัดคอเหยื่อ เมื่อฆ่าเหยื่อได้แล้ว เสือชีตาห์ต้องพักเอาแรงอีกสักครู่จึงจะมีแรงกินได้ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เสี่ยงและมักต้องเสียเหยื่อให้สัตว์ผู้ล่าชนิดอื่นเช่นสิงโตและไฮยีนา
                เสือดาว
รูปร่างลักษณะ
เสือดาวมีเขตกระจายพันธุ์กว้างขวางมากและมีลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยหลากหลาย เสือดาวในแต่ละพื้นที่จึงมีลักษณะภายนอกแตกต่างกันมาก เสือดาวในป่าโปร่งหรือทุ่งหญ้ามักมีพื้นสีเหลืองทองหรือน้ำตาลแดง เสือดาวในทะเลทรายมีสีครีมซีดจนถึงน้ำตาลเหลือง เสือดาวในบริเวณที่หนาวเย็นจะมีสีเทามากกว่า ส่วนเสือดาวในป่าฝนจะมีสีน้ำผึ้งเข้ม และเสือดาวบนภูเขาสูงมีสีคล้ายเสือดาวในป่าฝนแต่เข้มกว่า เสือดาวที่อยู่ในเขตหนาวเช่นเสือดาวพันธุ์อามูร์มีการเปลี่ยนสีตามฤดูกาลด้วย โดยจะมีสีซีดที่สุดในฤดูหนาว
ถิ่นที่อยู่
เสือดาวเป็นเสือที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด เขตกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุด สามารถอาศัยอยู่ได้ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ทะเลทรายจนถึงป่าฝน ตั้งแต่แอฟริกา เอเชียตะวันออกกลาง เรื่อยไปจนถึงจีน และไซบีเรีย รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยมีผู้พบซากเสือดาวอยู่ที่ระดับสูงสุดถึง 5,700 เมตรในเทือกเขาคีรีมันจาโร
พฤติกรรม
เสือดาวเป็นนักล่าที่แข็งแกร่ง และเป็นนักปีนต้นไม้ชั้นยอด มีกล้ามเนื้อขาและคอแข็งแรงมาก มันสามารถลากแอนติโลปขนาดใหญ่หรือแม้แต่ลูกยีราฟที่อาจหนักกว่ามันเองถึงสองสามเท่าขึ้นไปกินบนต้นไม้ได้ เสือดาวไม่ค่อยชอบน้ำนักแต่ก็ว่ายน้ำได้ดี ส่วนใหญ่มักชอบออกหากินตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนถึงใกล้รุ่ง ในบางครั้งก็อาจหากินในเวลากลางวันได้โดยเฉพาะในพื้นที่ ๆ ไม่มีมนุษย์รบกวน และตัวเมียที่เลี้ยงลูกก็มักต้องออกหากินบ่อยครั้งกว่าปกติจนต้องมีการหากินในเวลากลางวันด้วย ในเวลากลางวันที่ร้อนอบอ้าว เสือดาวมักปีนขึ้นไปพักผ่อนบนต้นไม้ หรือตามพุ่มไม้ หรือหรือหลืบหิน

เสือพูมา

         รูปร่างลักษณะ
         แม้จะดูตัวใหญ่อย่างเสือ แต่เชื่อว่าเสือพูมามีสายเลือดใกล้ชิดแมวมากกว่า ไม่มีกระดูกไฮออยด์ยืดหยุ่นและไม่มีสายเสียงขนาดใหญ่ดังที่มีในสัตว์ในสกุล Panthera แม้พูมาจะคำรามไม่ได้ แต่ก็เปล่งเสียงได้หลายแบบ และทั้งตัวผู้กับตัวเมียก็มีเสียงต่างกัน
เสือพูมาตัวผู้หนักหนักเฉลี่ย 53-72 กิโลกรัม เคยพบตัวที่ใหญ่เป็นพิเศษ หนักถึง 120 กิโลกรัม ตัวเมียน้ำหนักเฉลี่ย 34-48 กิโลกรัม พูมาที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมักตัวเล็กกว่าตัวที่อยู่ใกล้ขั้วโลก มีอุ้งตีนใหญ่ ขาหลังยาว เทียบสัดส่วนต่อขาหน้าแล้ว พูมามีขาหลังยาวที่สุดในบรรดาเสือและแมวทั้งหมด ไม่มีลวดลาย มีสีสันหลากหลายมาก ตั้งแต่สีเนื้ออ่อน น้ำตาลแดง จนถึงสีเทาอ่อน แม้แต่พี่น้องในครอกเดียวกันก็อาจมีสีต่างกัน ขนสั้นและหยาบ บริเวณแนวสันหลังสีเข้มกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย บริเวณหน้าอก หน้าท้อง และด้านในของขาทั้งสี่สีซีด ต้นขาหน้าอาจมีเส้นแนวนอนจาง ๆ มีวงรอบปากสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ พื้นที่รอบปากภายในวงรอบปากสีขาวหรือซีด หัวค่อนข้างเล็ก ม่านตามีสีหลายแบบตั้งแต่เหลืองอมเขียวจนถึงน้ำตาลอมเหลือง หูสั้นกลม หลังใบหูสีเทาหรือดำ ขาหน้าอุ้งตีนกว้าง หางยาวเรียว สีเข้มขึ้นไปตามความยาวหางจนถึงปลายหาง เสือพูมาที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้มีขนาดเล็กกว่าที่พบในอเมริกาเหนือ และพวกที่อยู่ทางเหนือและตามภูเขาสูงมักมีขนยาวกว่า
พูมาดำแบบเมลานิซึมพบได้บ่อย พูมาเผือกมีบ้างแต่ไม่บ่อยนัก ลูกพูมามีลายจุดทั้งตัวและตาสีฟ้า
         ถิ่นที่อยู่

         เสือพูมามีเขตกระจายพันธุ์ครอบคลุมตามแนวละติจูดกว้างที่สุดในบรรดาสัตว์ตระกูลเสือและแมวทั้งหมด พบได้ตั้งแต่บริติชคอลอมเบียในแคนาดาจนถึงปลายล่างสุดของทวีปอเมริกาใต้ อาศัยได้ในพื้นที่หลายชนิด ตั้งแต่ป่าพืชเมล็ดเปลือย ป่าเบญจพรรณ ป่าเขตร้อน ป่าบึง ทุ่งหญ้า พื้นที่กึ่งทะเลทราย ทางระดับความสูงพบตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 5,800 เมตร

         พฤติกรรม


         เสือพูมาทำเครื่องหมายบอกเขตแดนด้วยรอยข่วนและการพ่นเยี่ยวเป็นฝอย เดินทางเก่ง มักพบว่าเดินทางเป็นระยะทางถึง 16 กิโลเมตรภายในไม่กี่ชั่วโมง
เสือพูมาเป็นนักกระโดดและปีนป่ายชั้นยอด แม้จะไม่ค่อยชอบน้ำแต่ก็ว่ายน้ำได้เก่ง สายตาและหูดีมาก แต่จมูกไม่ค่อยไวนัก ส่วนใหญ่หากินกลางคืนเพียงตัวเดียว มักหากินตอนเช้ามืดและตอนหัวค่ำ โดยตระเวณหาเหยื่อเป็นพื้นที่กว้าง การล่าใช้วิธีย่องเข้าหาและกระโจนลงบนหลัง หรือพุ่งเข้าใส่ในระยะประชิด สัตว์ที่เป็นอาหารของเสือพูมาได้แก่ มูส กวางวาปิตี กวางแคริบู บีเวอร์ เม่น กระรอกดิน มาร์มอต พากา อะกูตี กระต่ายป่า แรกคูน ไคโยตี โอพอสซัม หมูป่า กัวนาโก หนูชนิดต่าง ๆ รวมถึงค้างคาวและตั๊กแตน บางครั้งก็เข้ามาล่าสัตว์เลี้ยงอย่างแกะ วัว และม้าด้วย พูมาในอเมริกาเหนือมักล่าสัตว์กีบขนาดใหญ่มากกว่าสัตว์เล็ก ส่วนทางใต้ลงมา พูมามีแนวโน้มจะเลือกสัตว์เล็กมากกว่า
เมื่อเสือพูมากินเหยื่อขนาดใหญ่ไม่หมด จะคลุมเหยื่อด้วยกิ่งไม้ใบไม้หรือเศษสิ่งของต่าง ๆ ที่หาได้ และจะไม่ไปไหนไกลจากเหยื่อ เพื่อกลับมากินอีกครั้งในคราวหลัง บางครั้งอาจกินซากที่ล่าโดยสัตว์อื่นด้วย แต่กรณีเช่นนี้พบได้ยาก



จากัวร์

         รูปร่างลักษณะ
เสือจากัวร์เป็นเสือที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกา ชื่อ “จากัวร์” เพี้ยนมาจากชื่อในภาษาอินเดียนแดงว่า “yaguara” มีความหมายว่า สัตว์ร้ายที่ฆ่าเหยื่อด้วยการกระโจนตะครุบครั้งเดียว ชนเผ่าในอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายเผ่าใช้เสือจากัวร์เป็นสัญลักษณ์ของความมีอำนาจของวัฒนธรรมตน
เสือจากัวร์มีลักษณะคล้ายเสือดาวมาก มีขนสั้นเกรียน สีพื้นตั้งแต่เหลืองทอง น้ำตาลอมเหลือง จนถึงน้ำตาลแดง บริเวณหัว คอ และขามีลายเป็นจุดดำ หลังและสีข้าง มีลายดอกคล้ายเสือดาว ลายดอกอาจขาดไม่เต็มวง กลางดอกมีจุดดำหนึ่งจุดหรือมากกว่า ปากกว้าง ม่านตามีสีหลากหลายตั้งแต่สีเหลืองทองจนถึงเหลืองอมเขียว หูค่อนข้างเล็ก สั้น และกลม หลังหูดำมีแต้มสีขาวกลางใบหู ขาสั้นและใหญ่ อุ้งตีนกว้าง หางค่อนข้างสั้นและหนา มีจุดทั่วทั้งหาง ปลายหางดำ ลำตัวยาว 120-180 เซนติเมตร น้ำหนัก 70-120 กิโลกรัม จากัวร์ดำก็พบได้บ่อย ส่วนจากัวร์เผือกมีบ้างแต่ไม่มากนัก
 ถิ่นที่อยู่
เสือจากัวร์ชอบน้ำเป็นพิเศษ อาศัยในป่าใกล้แม่น้ำ ทะเลสาบ หรือลำธาร และยังพบในที่ราบหรือทุ่งหญ้าที่น้ำท่วมในฤดูน้ำหลากด้วย เช่นที่ปันตานัลในบราซิลและยาโนสในเวเนซุเอลา ทุ่งปัมปัส บางครั้งก็พบหากินในป่าไม้แคระและทุ่งหญ้าด้วย ปกติจากัวร์ชอบที่ต่ำมากกว่าบนป่าเขา ไม่เคยพบในที่ราบสูงของเม็กซิโก อย่างไรก็ตามเคยพบเสือจากัวร์ที่ระดับสูงสุดถึง 3,800 เมตรในคอสตาริกา ส่วนในเทือกเขาแอนดีสเคยพบจากัวร์ที่ระดับสูงถึง 2,700 เมตร


พฤติกรรม
เสือจากัวร์ว่ายน้ำและปีนต้นไม้ได้คล่องแคล่ว แม้เรื่องปีนป่ายจะไม่เก่งเท่าเสือดาว แต่ก็สามารถจับลิงบนกิ่งไม้ที่ไม่สูงนักได้ อย่างไรก็ตาม จากัวร์มักหาเหยื่อบนพื้นดินมากกว่า มีสัตว์มากกว่า 85 ชนิดที่อยู่ในเมนูประจำของจากัวร์ อาหารโปรดมักเป็นสัตว์ใหญ่อย่างสมเสร็จ หมูป่าเพ็กคารี กวาง แต่หากจำเป็นก็กินได้ไม่เลือก เช่น อะกูตี คาปิบารา สลอท ลิง สกังก์ เม่น โคแอตี นาก อาร์มาดิลโล นก เคแมน อีกัวนา งู เต่า และปลา ในบราซิลและเวเนซุเอลามีการทำฟาร์มเปิดหลายแห่งที่ใกล้เขตหากินของจากัวร์ ทำให้สัตว์เลี้ยงตกเป็นอาหารของจากัวร์ไปด้วย หากจากัวร์กินอาหารไม่หมดในคราวเดียว มันมักเอาเหยื่อไปซ่อนเพื่อจะกลับมากินต่อในคราวหลัง


                                                                                                                                                       


1 ความคิดเห็น: